จากกรณีคดีของ “คิด เดอะริปเปอร์” ที่กลายเป็นกระแสทั่วประเทศ ได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะบนโซเชียล จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า แท้จริงแล้ว นักโทษคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง รวมถึงคดีร้ายแรงต่าง ๆ เพราะเหตุใดจึงได้รับการลดโทษ และออกจากคุกในที่สุด
บลูเอฟเอ็มออนไลน์ ได้ติดต่อไปยัง ทนายพริม จิรัชยา จิโรจน์พงศา เพื่อสอบถามถึงประเด็นดังกล่าว ทนายพริมให้ข้อมูลว่า โทษประหารชีวิต ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับคดีที่เอี่ยวกับชีวิตและร่างกายของผู้อื่น เช่น ฆ่าผู้อื่นอย่างโหดเหี้ยม คดีข่มขืน จนทำให้อีกฝ่ายเสียชีวิต รวมทั้งคดีร้ายแรงอย่าง ค้ายาเสพติด ซึ่งผู้ต้องหาคดีเหล่านี้จะถูกกำหนดโทษสูงสุดคือ “ประหารชีวิต”
ขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาที่ต้องโทษประหารชีวิต ก็มีสิทธิได้รับการลดหย่อนโทษเช่นเดียวกัน เนื่องจากฎหมายไทย พยายามให้โอกาสทุกคนในการกลับตัวเป็นคนดี โดยพิจารณาลดโทษได้ จากการให้การที่เป็นประโยชน์ในศาล ยอมรับผิด หรือสำนึกผิดในสิ่งที่ทำแล้ว รวมถึงลดโทษให้ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่เคยกระทำผิดมาก่อน
ทั้งนี้ ตามข้อกฎหมาย จะกำหนดการลดโทษประหารไว้ ลด 1 ใน 3 คือ เหลือจำคุกตลอดชีวิต หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ลดโทษกึ่งหนึ่ง โดยเหลือจำคุกตั้งแต่ 25 ปี – 50 ปี
“จริง ๆ แล้วมีการอภัยโทษหลายอย่าง เช่น ตลอดการจำคุก นักโทษมีความประพฤติดี ช่วยเหลืองาน มีความขยัน ก็จะได้เป็นนักโทษชั้นดี หรือชั้นเยี่ยมตามลำดับ รวมทั้งการอภัยโทษตามโอกาสต่างๆ เช่น การพระราชทานอภัยโทษ”
อย่างไรก็ตาม การลดโทษนั้น จะดูที่พฤติกรรมการปฏิบัติตัวในเรือนจำเป็นหลัก และบางครั้งอาจไม่ได้ดูจากความร้ายแรงของคดีมากนัก เมื่อได้รับการลดโทษหลายครั้ง ก็จะถูกสะสมไปเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็ออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้
นอกจากนี้ ทนายพริม ยังกล่าวในมุมมองส่วนตัวว่า ควรจะปรับปรุงกฎเกณฑ์เรื่องการอภัยโทษ หรือการลดโทษด้วย โดยเฉพาะในกรณีเป็นความผิดที่ร้ายแรงมาก ๆเช่น คดีฆาตรกรรมที่รุนแรง นักโทษมีประวัติคดีที่โหดร้าย ก็ไม่ควรมีการลดโทษให้
“มองว่าผู้ต้องหาคดีร้ายแรงอาจไม่ได้สำนึกผิดในการกระทำของตนเอง สุดท้ายอาจจะใช้วิธีการคือ ทำความดี ประพฤติดีในคุก เพื่อให้ตนเองพ้นโทษได้ไวขึ้น และออกมาก่อคดีรุนแรงซ้ำอีก” ทนายพริม กล่าว